http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-20

ความป่าเถื่อนของระบบศาลและคุกในประเทศไทย โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

.
รายงาน - นักวิชาการพร้อมใจยื่นหลักทรัพย์ประกัน "อากง" ภรรยาหวังได้รับความเป็นธรรมเร็วๆ นี้ โดย จุฑิมาศ สุกใส
รายงาน - เวทีเสวนา “1 เดือนผ่านไป รณรงค์แก้ไข ม.112 ไปถึงไหนแล้ว”

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ใจ อึ๊งภากรณ์: ความป่าเถื่อนของระบบศาลและคุกในประเทศไทย
ใน www.prachatai.com/journal/2012/02/39298 . . Fri, 2012-02-17 19:54


ระบบศาลและคุกในประเทศไทยเป็นระบบป่าเถื่อนที่ล้าหลังกว่ามาตรฐานสากลหลายร้อยปี และเป็นที่น่าอับอายขายหน้าชาวโลก แต่การที่ชนชั้นปกครองไทยไม่เคยสนใจที่จะสร้างวัฒนธรรมพลเมืองเสรี และไม่เคยเคารพความเป็นมนุษย์ของประชาชน เพราะมัวแต่มองว่าประชาชนเป็นเพียง “ราษฎร” ที่ควรจะเจียมตัวยอมรับการปกครองจากเบื้องบน ทำให้ชนชั้นปกครองไทยไร้จิตสำนึกโดยสิ้นเชิงในการพัฒนาระบบศาลและคุก

สำหรับฝ่ายประชาชนเอง ซึ่งเจ็บปวดกับสภาพสังคมในหลายด้าน ก็ถูกข่มขู่ ฆ่าหรือขัง เมื่อลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ พร้อมกันนั้น ในปัจจุบัน พรรคเพื่อไทย และแม้แต่แกนนำ “นปช. แดงทั้งแผ่นดิน” ก็ไม่เคยสนใจเรื่องระบบยุติธรรม และในกรณีพรรคเพื่อไทยมีการจงใจแช่แข็งความป่าเถื่อนผ่านการจับมือกับทหารอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการตื่นตัวของพลเมือง ทั้งเสื้อแดงบางส่วน และคนที่ไม่สังกัดสีอีกส่วน ภายใต้กระแสนิติราษฎร์ และการแก้ไขกฎหมาย 112 แสดงว่าพลเมืองไทยไม่น้อยพร้อมที่จะเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปสังคมอย่างจริงจัง ดังนั้นถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะมาร่วมกันพิจารณาปัญหาความป่าเถื่อนของระบบศาลและคุกในประเทศไทย เพราะสภาพความย่ำแย่ของระบบ “ยุติธรรม” และสภาพคุกในไทย ถูกเปิดโปงจากวิกฤตทางการเมือง

โดยรวมแล้วปัญหาของระบบศาลและคุกไทย สามารถแบ่งเป็นหัวข้อสำคัญๆ ดังนี้คือ


1. ผู้พิพากษาเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในระบบเผด็จการมาตลอด และไม่สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ และตรวจสอบโดยประชาชน ตามกระบวนการประชาธิปไตย เพื่อการสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรม เรื่องนี้เกิดขึ้นจากการแต่งตั้งผู้พิพากษาและการมองว่าเขาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่ต้องได้รับการตรวจสอบจากสังคม มีการใช้ “กฎหมายหมิ่นศาล” ในลักษณะเดียวกับกฎหมาย 112 เพื่อบังคับกีดกันไม่ให้ใครวิจารณ์คำตัดสินของศาลและกระบวนการของศาล แต่ในหลักสากล “การหมิ่นศาล” มีความหมายต่างออกไปคือ คนที่ “หมิ่นศาล” เป็นเพียงคนที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลเท่านั้น ส่วนใครจะวิจารณ์ผู้พิพากษา การตัดสินของศาล หรือกระบวนการของศาล ทุกคนทำได้อย่างเสรี ตามสิทธิในระบบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ในระบบศาลไทย พลเมืองธรรมดาไม่มีส่วนร่วมเลย เพราะไม่มีระบบลูกขุนที่คัดเลือกจากประชาชนโดยไม่เลือกหน้า ระบบลูกขุนและการมีส่วนร่วมของพลเมือง มีความสำคัญในการคานอำนาจความอคติของผู้พิพากษา ลูกขุนมีสิทธิ์ตัดสินว่าผู้ต้องหาผิดหรือไม่ ส่วนผู้พิพากษามีหน้าที่ชี้แจงประเด็นกฎหมาย และลงโทษผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิด ระบบนี้เป็นระบบที่ขยายพื้นที่ประชาธิปไตยเข้าสู่ระบบศาล

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนักโทษการเมือง ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย นักโทษการเมืองคือคนที่ติดคุกอันเนื่องมาจากการแสดงความเห็นทางการเมือง โดยที่ไม่มีการใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด นี่คือบทพิสูจน์ว่าทั้งศาล คุก และกฏหมายไทย รับใช้ผู้มีอำนาจเผด็จการ


2. ผู้พิพากษา ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ศาล ไร้ความเคารพต่อพลเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับระบบศาลโดยสิ้นเชิง โดยมองว่าประชาชนเหล่านั้นเป็นคนชั้นต่ำที่ “ย่อมทำความผิด” ผู้พิพากษา ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ศาล ไม่เคยมองว่าตนควรจะบริการรับใช้ประชาชนแต่อย่างใด

บ่อยครั้งเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะใช้ท่าทีเหยียดหยามดูหมิ่นประชาชน มีหลายกรณีที่ผู้พิพากษาไม่ยอมลงมาตัดสินคดีในห้องศาล ผู้ต้องหาจึงต้องคุยกับผู้พิพากษาผ่านโทรทัศน์วงจรปิด ซึ่งเป็นการกีดกันระบบยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพในการชี้แจงข้อมูลให้ผู้พิพากษาอย่างเต็มที่ ในกรณีอื่นผู้พิพากษายังอาจใช้เสียงในการอ่านคำตัดสินคดีค่อยเกินไป จนผู้ต้องหาและประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิที่จะรับฟัง ซึ่งขัดกับกระบวนการยุติธรรมพื้นฐาน

มีหลายกรณีที่ผู้ต้องหาถูกขังไว้ในรถขังนักโทษกลางแดดหลายชั่วโมง มีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ศาลจงใจกลั่นแกล้งผู้ที่จะมาประกันผู้ต้องหา เพื่อให้ “นักประกันธุรกิจ” ได้ประโยชน์จากความทุกข์ของประชาชน

ในกรณีคดี 112 ประชาชนทั่วไปไม่สามารถร่วมพิจารณาคดีได้ และไม่สามารถตรวจสอบความเที่ยงตรงของศาลได้ เพราะสื่อจะถูกห้ามไม่ให้รายงานรายละเอียดของคดีทุกครั้ง


3. ระบบศาลในไทย ไม่ปฏิบัติตามหลักพื้นฐานที่ถือว่าผู้ต้องหาทุกคนบริสุทธิ์ก่อนที่จะมีการตัดสินคดี ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ระบุไว้เป็นนามธรรมในรัฐธรรมนูญ ศาลไทยมอง “ผู้ต้องหา” ว่า “ผิดแต่แรก” โดยเฉพาะคดีการเมืองเช่น 112 ไม่มีการประกันตัว พร้อมกันนั้นมีการกีดกันไม่ให้คนจนในคดีธรรมดาสามารถได้รับการประกันตัว เพราะต้องหาหลักประกันสูงเกินไป สรุปแล้วผู้ที่ควรจะถูกมองว่าเป็น “ผู้บริสุทธิ์” ก่อนตัดสินคดี ถูกคุมขังเป็นเวลานานโดยไม่เป็นธรรม

การที่รัฐบาลไทยรักไทยในอดีตเคยปล่อยให้เจ้าหน้าที่ฆ่าผู้ต้องสงสัยว่าค้ายาเสพติด ก่อนที่จะนำมาขึ้นศาล เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมหาศาล เพราะขัดกับหลักการณ์ที่ถือว่าผู้ต้องหาทุกคนบริสุทธิ์ก่อนที่จะมีการตัดสินคดี

การที่ทหารและนักการเมืองสั่งฆ่าประชาชน โดยใช้ข้อแก้ตัวว่าเขาเป็นพวก “ล้มเจ้า” หรือ “ผู้ก่อการร้าย” โดยไม่มีการนำมาขึ้นศาลก่อน ถือว่าขัดกับหลักการณ์ที่ถือว่าผู้ต้องหาทุกคนบริสุทธิ์ก่อนที่จะมีการตัดสินคดี

นอกจากนี้มีปัญหาใหญ่ในเรื่องการล่ามโซ่และการบังคับใส่ชุดนักโทษ


4. การล่ามโซ่และบังคับให้ผู้ต้องหาที่อยู่ในขั้นตอนก่อนตัดสินคดี ต้องแต่งชุดนักโทษ เป็นการละเมิดมาตรฐานยุติธรรมพื้นฐาน เพราะคนเหล่านี้ควรได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การที่ผู้ต้องหาเหล่านี้ต้องเข้าไปในห้องศาลในสภาพแบบนั้น แทนที่จะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าของตนเองและปราศจากโซ่ เป็นการสร้างภาพในห้องศาลว่าคนนี้เป็น “ผู้ร้าย” ซึ่งแน่นอนจะมีผลต่อการตัดสินคดี นอกจากนี้การล่ามโซ่เป็นการปฏิบัติแบบป่าเถื่อน ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และทำให้ไทยล้าหลังประเทศอารยะทั้งหลายในโลก เพราะปฏิบัติต่อนักโทษเหมือนสมัย “ยุคกลาง”


5. ในระบบศาลและคุกไทย และในสังคมไทยโดยรวม ไม่มีการมองถึง “สิทธิมนุษยชน” ของนักโทษที่ได้รับการตัดสินคดีไปแล้ว แต่อย่างใด การปฏิบัติต่อนักโทษจึงขาดแง่ของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยสิ้นเชิง เรื่องนี้เป็นผลพวงของสังคมที่คลั่งลำดับชนชั้น โดยที่ผู้น้อยต้องคลานหรือก้มหัวเมื่อเข้าไปหาผู้ใหญ่ คนที่เป็นนักโทษอาจทำความผิดไปแล้ว ตามกฏหมายของสังคม แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ใช่มนุษย์ ทุกคนสามารถผิดพลาดได้ แต่สำหรับประชาชนตาดำๆ ธรรมดา การทำอะไรผิดกฏหมายกลายเป็นเงื่อนไขที่จะปฏิบัติต่อเขาเหมือนกับว่าเขาเป็นแค่สัตว์


6. สภาพคุกไทย แย่พอๆ กับสภาพกรงสัตว์ ไม่มีการคำนึงถึงความเป็นมนุษย์แต่อย่างใด และเราจะสังเกตได้ว่าในทุกประเทศของโลก สภาพคุกเป็นเครื่องชี้วัดถึงความอารยะหรือความป่าเถื่อนของสังคม มันเป็นเรื่องน่าอับอายขายหน้าที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสังคมป่าเถื่อนของโลก มีการให้นักโทษติดโซ่นอนถึงสามสิบคนต่อห้องเดียว บางครั้งไม่มีเตียง สภาพห้องน้ำย่ำแย่ อาหารก็แย่ ไม่มีห้องสมุด ไม่มีวิธีการออกกำลังกายที่สร้างสรรค์ ไม่มีโอกาสที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเองอย่างจริงจัง และเจ้าหน้าที่คุกก็เต็มไปด้วยพฤติกรรมคอร์รับชั่น นอกจากนี้สังคมไทยใช้นักโทษในการทำงานขุดโคลนออกจากท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นงานสกปรก อันตราย และขาดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


7. คุกไทยเต็มไปด้วยคนจน ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีคดีประเภท “ลักขโมย” หรือคดียาเสพติด สังคมไทยไม่มีการถกเถียงและพิจารณาว่ามีระบบคุกไว้ทำไม คือเพื่อแก้แค้น? เพื่อลงโทษ? หรือเพื่อปกป้องสังคมจากคนอันตราย? และไม่มีการพิจารณาความจริงเกี่ยวกับสาเหตุของการลักขโมย หรือสาเหตุของการใช้ยาเสพติด เพื่อหาทางแก้ไขแต่แรกโดยไม่ใช้ความรุนแรงป่าเถื่อน คำตอบของชนชั้นปกครองป่าเถื่อนของไทย สำหรับคนจนคือ ขัง ขัง ขัง ลงโทษ ลงโทษ ลงโทษ นี่คือวัฒนธรรมล้าหลังที่พวกอนุรักษ์นิยมต้องการปกป้องมากมายเหลือเกิน

โทษประหารเป็นการแก้แค้นเท่านั้น เพราะไม่มีผลในการลดอาชญากรรม ไม่มีผลในการส่งเสริมให้คนปรับตัว มันเป็นเพียงการใช้ความรุนแรงป่าเถื่อน และบ่อยครั้งคนที่ถูกรัฐฆ่า อาจเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกตัดสินผิดด้วย

การลักขโมยมีต้นเหตุจากความยากจนในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ในไทยคนรวยรวยเท่าเศรษฐีสากล แต่คนจนจนเท่าประชาชนโลกที่สาม ไทยไม่มีรัฐสวัสดิการ ไม่มีการลดความเหลื่อมล้ำ และลัทธิเศรษฐกิจที่ชนชั้นปกครองมักใช้ จะเน้นกลไกตลาดแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” และการจงใจแช่แข็งความเหลื่อมล้ำผ่านการสั่งสอนให้คนจน “รู้จักออม”

ปัญหายาเสพติดถูกทำให้แย่มากขึ้นผ่านการปกปิดข้อมูลจริงเรื่องผลของการใช้ยา ซึ่งทำให้ประชาชนบริหารชีวิตยากขึ้น และสภาพการทำงานหลายต่อหลายชั่วโมง ก็มีส่วนในการส่งเสริมการใช้ยากระตุ้นต่างๆ อีกด้วย

คุกไทยมีนักโทษมากเกินไป ควรลดจำนวนนักโทษให้เหลือแต่คนที่เป็นอันตรายสูงต่อเพื่อมนุษย์ในสังคมเท่านั้น และไม่ควรมีนักโทษการเมืองแม้แต่คนเดียว


8. คนรวย คนที่มีเส้น นายพลระดับสูง นักการเมืองที่ใกล้ชิดกับทหารหรืออำมาตย์ ลูกชายนักการเมือง ฯลฯ ไม่เคยต้องรับโทษหรือถูกพิพากษาในระบบไทย คนที่ฆ่าประชาชนเป็นหมู่ เช่นแกนนำรัฐบาลประชาธิปัตย์ และผู้บังคับบัญชาทหารในปี ๒๕๕๓ และคนที่เคยก่อเหตุนองเลือดในอดีต มักลอยนวลเสมอ ดังนั้นเราต้องสรุปว่าระบบศาลและคุกไทยมีไว้ลงโทษ กลั่นแกล้ง และกดขี่คนชั้นล่างเท่านั้น เพื่อให้ถูกปกครอง และเพื่อไม่ให้มีประชาธิปไตยกับสิทธิเสรีภาพ ศาลและคุกไทยไม่ได้มีไว้เพื่อสร้างความยุตธรรมแต่อย่างใด มีไว้เพื่อแช่แข็งระบบสองมาตรฐาน

ถ้าเราจะพูดถึงคดีการเมืองในไทย เราจะเห็นว่าการวิจารณ์ผู้มีอำนาจหรือสัญญลักษณ์ที่ทหารใช้ในการให้ความชอบธรรมกับตนเอง ทำให้ประชาชนติดคุกได้ แต่การทำลายระบบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุขด้วยการทำรัฐประหาร เป็นเงื่อนไขในการได้ดิบได้ดีในสังคม


9. การลงโทษในระบบศาลไทย ไม่สมเหตุสมผล คดีฆ่าคน หรือทำร้ายคน จะได้รับโทษเบากว่าคดี 112 ซึ่งมาจากการแสดงความเห็นต่อระบบการเมือง โดยที่ผู้กระทำไม่เคยใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด อันนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ว่าศาลและคุกไทยมีไว้เพื่อแช่แข็งสองมาตรฐานของชนชั้นปกครอง


ทั้งหมดนี้ฟ้องถึงความย่ำแย่ป่าเถื่อนของระบบศาลและคุกในประเทศไทย ถ้าเราจะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงให้สังคมเราเป็นสังคมอารยะตามมาตรฐานสากล เราต้องนำผู้มีอิทธิพลทั้งหลายที่เคยฆ่าประชาชนหรือทำรัฐประหาร มาลงโทษ เราต้องลดอำนาจมืดในระบบการเมืองและเพิ่มอำนาจประชาชน เราต้องปลดผู้พิพากษาที่ไม่มีจิตวิญญาณแห่งความยุติธรรมออกไป เราต้องแก้หรือยกเลิกกฏหมายต่างๆ ที่สนับสนุนเผด็จการและความป่าเถื่อน และเราต้องเริ่มสร้าง “วัฒนธรรมพลเมือง” ที่ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กับทุกคน แม้แต่นักโทษ

สังคมไทยในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ไม่เคยเคารพความเป็นพลเมืองของคนส่วนใหญ่ ไม่เคยเคารพสิทธิของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และไม่เคยเคารพความเป็นมนุษย์ของนักโทษเลย

การ “ปรองดอง” ยอมจำนนต่ออำนาจทหาร ที่รัฐบาลทำอยู่ ไม่ใช่คำตอบ เพราะปัญหาจะยิ่งแย่ลง คำตอบคือเราควรร่วมกันสนับสนุนข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ และช่วยกันพัฒนาการปฏิรูปในขั้นตอนต่อไปจากนั้น



+++

นักวิชาการพร้อมใจยื่นหลักทรัพย์ประกัน "อากง" ภรรยาหวังได้รับความเป็นธรรมเร็วๆ นี้
รายงานโดย จุฑิมาศ สุกใส ใน www.prachatai.com/journal/2012/02/39322 . . Mon, 2012-02-20 15:11


(20 ก.พ.55) เวลา 13.00 น. กลุ่มนักวิชาการจำนวน 7 คน อาทิ ผศ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานนท์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น ได้เดินทางมายื่นหลักทรัพย์ประกันตัวนายอำพล หรือที่รู้จักกันในนาม "อากง" ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก โดยวันเดียวกันนี้ นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความของนายอำพล ได้ยื่นขออุทธรณ์คดีนายอำพลด้วย

นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ กล่าวว่า ได้ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว แบ่งเป็นตำแหน่งนักวิชาการจำนวน 7 คนและเงินสดจากกองทุนยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจำนวน 1 ล้านบาท รวมหลักทรัพย์ 2 ล้านบาทเมื่อยื่นประกันตัวแล้ว

"สำหรับคดีนี้ก็มีความหวังว่าจะได้ประกันตัวเพราะมีปฏิกิริยาต่างจากคดีทั่วไป เช่น ไม่เคยมีกรณีใดที่โฆษกศาลออกมาโต้แย้งแสดงทัศนะมาก่อน ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามในการอธิบายตัวเอง โดยคาดว่าจะรอคำสั่งจากศาลอุทธรณ์ประมาณ 2-3 วันจึงจะทราบผล"

นางรสมาลิน ภรรยานายอำพล กล่าวว่า "รู้สึกดีใจมากที่มีกลุ่มนักวิชาการ มายื่นประกัน เพิ่งอดอาหารมา 24 ชั่วโมงรู้สึกมึนงงและตื้นตันมาก มีความหวังว่าศาลจะให้ประกัน และอยู่ด้วยความหวังมาตลอด หากอากงได้รับประกันตัวจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของนายอำพล สำหรับอากงเองก็หวังว่าจะได้รับการประกันตัวโดยเร็วที่สุด หลานๆ ก็รู้สึกดีใจหากสามารถประกันตัวอากงจะกลับมาได้ หากได้รับการประกันตัวจะพาอากงไปแก้ไข่ต้ม 400 ลูก ที่วัดหลวงพ่อโต"

"หากศาลไม่ให้ประกันก็ยังไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร เพราะตนเองไม่ได้รู้เรื่องอะไรทั้งหมดเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ตัวเองก็ไม่เคยขึ้นศาลมาก่อน แต่ตอนนี้ต้องมาขึ้นศาลเป็นประจำ ประสบความยากลำบากในการดำเนินชีวิตและดูแลหลานๆ" นางรสมาลิน กล่าว

ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในนักวิชาการที่ยื่นตำแหน่งเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวนายอำพล กล่าวว่า "การยื่นประกันตัวครั้งนี้หวังว่าศาลจะมีความเมตตา พิจารณาว่านายอำพลสูงอายุแล้ว ทั้งยังป่วยและไม่สามารถหลบหนีหรือยุ่งเกี่ยวกับหลักฐาน เนื่องจากนายอำพลมีครอบครัวในประเทศไทย และไม่มีความรู้หรือฐานะที่จะหลบหนีไปต่างประเทศได้ ไม่มีเหตุผลใดที่ศาลจะไม่ให้ประกันตัว จึงขอวิงวอนต่อศาลให้อนุญาตให้นายอำพลได้รับการประกันตัว อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองด้วย"

ระหว่างการรอยื่นเอกสารประกันตัวและอุทธรณ์ได้มีทนายมาให้ความรู้ทางกฎหมายและตอบข้อซักถามของนางรสมาลินด้วย


ภรรยา "อากง" และแม่นักโทษการเมืองอดอาหารครบ 24 ชม.
เตรียมขอประกัน-เยี่ยมลูก
ก่อนหน้านี้ เวลา 8.00 น. นางรสมาลิน (สงวนนามสกุล) ภรรยานายอำพล หรือ "อากง" และนางแต้ม .. อายุ 67 ปี มารดานายนายสุรภักดิ์ จำเลยในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้ยุติการอดอาหารหลังเพื่อเรียกร้องขอสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาความผิดอาญาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หลังอดอาหารมาครบ 24 ชั่วโมง โดยนางแต้มได้เดินทางไปเยี่ยมนายสุรภักดิ์ บุตรชาย ส่วนนางรสมาลินเดินทางไปเตรียมตัวยื่นประกันอากงต่อไปในช่วง 13.00 น.

ในช่วงดึกวานนี้ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยปฏิเสธให้นางรสมาลินและนางแต้มใช้ห้องน้ำของศาลอาญา โดยแจ้งว่าให้เดินไปใช้ห้องน้ำที่มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษมซึ่งมีระยะทางกว่า 500 เมตร ทำให้ผู้ร่วมอดอาหารและผู้มาให้กำลังใจต้องพาทั้งคู่เดินหาห้องน้ำกลางดึกเป็นเวลาเกือบครึ่งชั่วโมง



+++

เวทีเสวนา “1 เดือนผ่านไป รณรงค์แก้ไข ม.112 ไปถึงไหนแล้ว
จาก www.prachatai.com/journal/2012/02/39324 . . Mon, 2012-02-20 16:10


บก.ฟ้าเดียวกันถาม “อานันท์” หรือบิ๊กเนมที่เคยบอกให้แก้ไขทำไมไม่ลงชื่อ หรือแค่ตีกินให้ภาพดูดี ดีเจหนึ่งชี้การล่าชื่อในเชียงใหม่อุปสรรคอัพเลเวลเสื้อแดงคือก้าวไม่พ้นเพื่อไทย นปช. หลังรัฐบาล นักการเมือง แกนนำติดเบรคห้ามแตะ ม.112 ประสบการณ์ล้มกฎหมายจากแอฟริกาใต้ระบุต้องขยายเครือข่ายหาจุดร่วมเคลื่อน

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 54 ที่ผ่านมาที่ร้านเร้ดคอฟฟี่ จ.เชียงใหม่ ได้มีการจัดเสวนา “1 เดือนผ่านไป รณรงค์แก้ไข ม.112 ไปถึงไหนแล้ว” โดยมีวิทยากรคือ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน จักรพันธ์ บริรักษ์ (ดีเจหนึ่ง วิทยุสร้างสรรค์สังคมเชียงใหม่) เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร กลุ่มทุนนิยาม ดำเนินรายการโดย ธีระพล คุ้มทรัพย์


ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน เริ่มต้นด้วยการยกส่วนหนึ่งในบทความของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ในปี พ.ศ. 2550 ที่ว่าแม้จะเห็นว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพน่าจะยกเลิกไปเลย ซึ่งหมายความว่าสถาบันกษัตริย์ก็จะถูกตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ อ.นิธิก็ยังบอกในบทความนั้นว่าแต่ก็ทำได้ยากเพราะกฎหมายนี้วางอยู่บนความสัมพันธ์กับเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อีกด้วย

ปัญหาก็คือว่าข้อเสนอในการยกเลิก ม.112 ในตอนนั้นหรือแม้กระทั่งในตอนนี้ กฎหมายหมิ่นฯ มันไม่ได้เป็นแค่กฎหมายอาญาที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แต่มันเป็นกระดูกสันหลังของสถาบันกษัตริย์ และสถาบันบันกษัตริย์ที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ก็ไม่ได้เป็นเหมือนเมื่อตอน พ.ศ.2475 เมื่อก่อน พ.ศ.2475 หรือเมื่อก่อน พ.ศ.2490 สถาบันกษัตริย์ที่เราเห็นอยู่นี้เป็นสิ่งที่แปลกใหม่ นี่เป็นการพูดแบบคนที่อ่านประวัติศาสตร์มาบ้าง หลายๆ ท่านอาจจะนึกไม่ออกว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งในสังคมไทยอาจจะเรียกได้ว่าเราไม่มีพระมหากษัตริย์อยู่ในประเทศไทยอยู่ช่วงหนึ่งก็คือหลัง พ.ศ. 2477 ที่กษัตริย์ของไทยยังทรงพระเยาว์และยังอยู่ในต่างประเทศ ณ ตอนนั้นระบบการบริหารต่างๆ อยู่ในรัฐสภา มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็เพียงทำหน้าที่ทางพิธีกรรม


ธนาพลกล่าวว่าที่ยกตัวอย่างมานี้เพื่อจะบอกว่า ณ เวลาหนึ่งในสังคมไทยที่เราอาจจะหลงลืมไปแล้วว่าสถาบันกษัตริย์ที่เป็นสัญลักษณ์จริงๆ เคยมีอยู่ในสังคมไทย แล้วการที่มีสถาบันกษัตริย์ที่เป็นเชิงสัญลักษณ์จริงๆ ก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาในทางการเมือง ไม่เกิดปัญหาแม้กระทั่งในสถานการณ์ที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีวิกฤตทางการเมืองมาก ดังนั้นสิ่งที่เราอาจจะเห็นหรือคุ้นเคยในปัจจุบันนี้อย่างเรื่องพระราชดำรัสทุกๆ วันที่ 4 ธันวาคม ก็พึ่งเกิดมาในยุคของนายกชาติชายในทศวรรษที่ 2530 นี่เอง

ธนาพลกล่าวว่าที่โยงให้เห็นนี้ เช่นกรณีพระราชดำรัสที่เราคิดว่าเป็นประเด็นทางการเมืองได้ เป็นเหมือนอาญาสิทธิ์ได้ ก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นมาไม่นานนี้ และหลายๆ สิ่งหลายอย่างที่เราคุ้นชินและคิดว่ามีมานานแล้วนั้น เช่น ราชพิธีต่างๆ ก็พึ่งถูกรื้อฟื้นหรือพึ่งเกิดขึ้นมาไม่นานนี้เอง ทั้งนี้ที่ยกมานี้เพื่อให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่าเวลาเราพูดถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เรากำลังพูดถึงการเอาตัวสถาบันกษัตริย์ที่มันผิดฝาผิดตัว ไม่สอดคล้องกับระบบประชาธิปไตย ให้มาสอดคล้องกับระบบประชาธิปไตย

ทั้งนี้ในประเด็นที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเคยมีคนที่ดูกลางๆ หรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ออกมาพูดถึงการให้แก้ไข ม.112 นั้น ธนาพลทิ้งคำถามว่าคนที่เคยออกว่า ม.112 ต้องแก้ไขเหล่านั้น เช่นนายอานันท์ ปันยารชุน หายไปไหน ทำไมไม่มาร่วมลงชื่อกับ ครก.112 หรือเพียงเพราะว่าออกมาพูดให้ตนดูดีเท่านั้น

ในช่วงแลกเปลี่ยนผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งได้แลกเปลี่ยนว่าตนเองรู้สึกท้อแท้และรู้สึกว่าที่เราได้ลงรายชื่อไปนั้นไม่อาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ธนาพลได้ตอบไปว่าลองย้อนมองอดีตตั้งแต่กบฏ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2455) ที่หวังเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยแต่ก็ล้มเหลว จากนั้นใครจะไปคิดว่าอีก 20 ปี ในปี พ.ศ. 2475 คณะราษฎร์จะสามารถสานต่อให้สำเร็จได้ เช่นเดียวกับข้อเสนอ 7 ข้อของนิติราษฎร์ ที่พึ่งเสนอเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2554 และตอนนี้เราเดินมาไกลถึงขั้นล่ารายชื่อขอเปลี่ยนแปลงกฎหมายตามข้อเสนอของนิติราษฎร์กันแล้ว



จักรพันธ์ บริรักษ์ หรือดีเจหนึ่ง จากสถานีวิทยุสร้างสรรค์สังคมเชียงใหม่ FM 99.15 MHz เล่าถึงประสบการณ์การล่าชื่อ ครก.112 กับคนเสื้อแดงใน จ.เชียงใหม่ บางส่วนที่ตนไปสัมผัสมาว่ามีความกลัวกล้า โอกาสอุปสรรค์ อย่างไร

จักรพันธ์ ได้เล่าย้อนไปถึงการก่อตั้งสถานีที่สถานการณ์ทางการเมืองยังอึมครึมอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม 2553 และ ตอนนั้นมีงานเสวนาที่ดังมากของคณะนิติราษฎร์ คือวันที่ 10 ธ.ค. 2553 เรื่อง “สถาบันกษัตริย์ – รัฐธรรมนูญ – ประชาธิปไตย” ทางสถานีก็ได้นำคลิปเสียงของงานมาเปิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายรอบ ปรากฏว่าชาวบ้านชอบมากโดยเฉพาะช่วงที่ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ไปร่วมงานเสวนาด้วยได้ลุกขึ้นพูด มีการไรท์ซีดีแจก ในงานปราศรัยของเสื้อแดงเชียงใหม่แจกซีดีของ อ.สมศักดิ์ ได้รับความนิยมมาก

จักรพันธ์ประเมินว่าคนเสื้อแดงเชียงใหม่นั้นกว่า 90% เข้าใจในเรื่องกฎหมาย ม.112 เข้าใจอย่างดีว่ามีปัญหายังไง อาจจะเข้าใจก่อนที่นิติราษฎร์จะเสนอข้อเสนอด้วยซ้ำไป เพียงแต่ว่าการชื่อหรือไม่ลงชื่อนั้นมีประเด็นที่น่าสนใจที่ตนเองพอลงไปสัมผัสและจะนำมาประมวลดังนี้

ก่อนหน้านี้ในเชียงใหม่ในช่วงที่ อ.สุรชัย แซ่ด่าน โดนจับกุมตัวนั้นในช่วงแรกๆ ที่เชียงใหม่เสื้อแดงหลายกลุ่มที่มีความสนิทสนมกับ อ.สุรชัย (เครือข่ายแดง 8 จังหวัดภาคเหนือ) ถึงกับมีการล่าชื่อให้ยกเลิกไม่ใช่แก้ ม.112 ด้วยซ้ำ แต่กระแสตอนนั้นต้องมาสะดุดหยุดลงไปเพราะท่าทีของ นปช. มีเหตุการณ์แจ้งจับคนที่แจกใบปลิวในเวทีปราศรัยที กทม. มีวาทกรรมสุดคลาสสิคของแกนนำอย่างณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ว่า “ตาสว่างได้ ปากอย่าสว่าง” แม้กระทั่งการเดินสายมาปราศรัยของ นปช. ส่วนกลางที่ อ.สันกำแพง ซึ่งตอนนั้น อ.สุรชัย ถูกจับแล้ว มีคนไปชูป้ายเกี่ยวกับ ม.112 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ กลับสั่งให้เอาป้ายลง บอกอย่าชูป้าย 112 แถวนี้

จักรพันธ์กล่าวว่าท่วงท่าเหล่านี้ของ นปช. ทำให้กำลังมวลชนชาวบ้านรากหญ้าอ่อนลง ถึงแม้ว่าจะมีการออกมาแก้ต่างทีหลังก็ตาม แต่ว่าพลังมันก็อ่อนลงไปแล้ว การล่าชื่อยกเลิก ม.112 ของเครือข่ายแดง 8 จังหวัดภาคเหนือก็ต้องล้มเลิกไป เพราะ นปช. ส่วนกลางไม่เอาด้วย


ในเรื่องความกลัว กล้า อุปสรรค ในการลงชื่อสนับสนุนแก้ไข ม.112 ในปัจจุบันนี้ จักรพันธ์เล่าถึงประสบการที่ได้ลงไปพบปะกับชาวบ้านเสื้อแดง โดยขอเล่าถึงเรื่องความกล้าก่อนว่า คนที่กล้ามาลงดูเหมือนไม่มีเหตุผลเลย มาถึงร้านปุ๊บจับปากกาเอกสารเซ็นชื่อเลย ระบุด้วยซ้ำว่าแค่แก้ไขมันยังน้อยเกินไป อยากให้ยกเลิกมาตรานี้ คนที่กล้าส่วนใหญ่มักจะมีบุคลิกแบบนี้ ส่วนอีกกลุ่มก็มาลงชื่อเหมือนกันแต่จะอดถามไม่ได้ว่าถ้าตนลงชื่อแล้วจะปลอดภัยไหม จะมีผลกระทบอะไรตามมาไหม ที่ถามว่าผลกระทบที่จะตามมานั้นส่วนใหญ่ก็ไม่ได้กลัวเรื่องกฎหมาย เพราะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนใหญ่จะกลัวเรื่องโดนผลกระทบจากอำนาจมืดมากกว่า ซึ่งตรงนี้จักรพันธ์บอกว่าตนเองก็ตอบไม่ได้ อีกกลุ่มหนึ่งก็จะถามเหมือนกันเรื่องความปลอดภัย แต่ก็ไม่ลงชื่อแล้วฝากไว้ที่ร้าน ขอเอาแบบฟอร์มกลับไปลงที่บ้านแทน บางคนก็เอาไปเป็นปึกเลย แต่ ณ วันนี้ส่วนหนึ่งก็ยังไม่ได้เอาเอกสารมาให้

จักรพันธ์กล่าวถึงกลุ่มของชาวบ้านที่มีความกลัว คือไม่ลงชื่อเลย แต่เมื่อตนเอาเอกสารไปให้ตามบ้าน ตามตลาดก็รับเอกสารไว้ รับไว้แต่ไม่ลง เมื่อไปตามเอกสารก็จะบอกว่ายังไม่ได้ลงชื่อยังไม่ว่าง หรือเอกสารไม่ครบ อีกกลุ่มคือกลัวและไม่ลงเลย กลัวอำนาจมืดแบบกลุ่มแรกที่กลัวแต่ลงชื่อ และเมื่อพูดคุยกลุ่มที่กลัวและไม่ลงชื่อนี้ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของนิติราษฎร์ เห็นด้วยว่า ม.112 มีปัญหา เข้าใจด้วยซ้ำว่าการลงชื่อแบบนี้ตามกฎหมายแล้วไม่ผิด

กลุ่มสุดท้ายที่ไม่ยอมลงชื่อ กลุ่มนี้น่าสนใจมาก คือทีแรกกลุ่มนี้จะลงชื่ออยู่แล้ว ตอนที่ตนเอาเอกสารไปให้ 10 ชุด ก็บอกว่าไม่พอหรอกขอ 20 ชุดเลย บางทีจะให้ 20 ชุด ก็บอกไม่พอจะขอ 60 ชุด เอามาเลยพร้อมที่จะลงให้เต็มที่อยู่แล้ว สนับสนุนทั้ง ครก.112 และคณะนิติราษฎร์ แต่พอมีการขยับตัวของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ที่แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ ม.112 ตอกย้ำด้วยคำพูดของแกนนำ นปช. อย่างจตุพร พรหมพันธุ์ที่ระบุว่าถึงแม้ได้รายชื่อครบ 10,000 รายชื่อ ก็ไม่มี ส.ส. ในสภายกมือให้แม้แต่คนเดียว และอ้างด้วยว่าการแก้ไข ม.112 นั้นจะเป็นเงื่อนไขไปสู่การรัฐประหาร จักรพันธ์ประเมินว่าสาเหตุที่ทำให้เสื้อแดงชาวบ้านกลุ่มนี้ไม่ลงรายชื่อแก้ไข ม.112 ครั้งนี้ เพราะไม่อยากให้รัฐบาลที่ตนเองเลือกไปกับมือต้องล้มไปเพราะการรัฐประหารที่มีสาเหตุมาจากการที่ตัวชาวบ้านเสื้อแดงเองไปลงรายชื่อ แก้ไข ม.112 กลุ่มนี้ไม่ลงเลยคืนเอกสารมาหมดเลย

แม้ล่าสุดท่าทีของณัฐวุฒิหรือจตุพร จะเบาลงในเรื่องของการต้านการลงชื่อแก้ไข ม.112 แต่ก็ไม่เกิดผลทางที่ดีขึ้นแล้ว เหมือนกับการขับรถมาด้วยความเร็วสูง แต่พอเหยียบเบรกแล้วปล่อย เหยียบเบรกแล้วปล่อย ความเร็วมันก็ไม่เท่าเดิมแล้ว

จักรพันธุ์กล่าวว่าเสื้อแดงในกลุ่มสุดท้ายที่กล่าวไปนั้น แกนนำ นปช. มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการตัดสินใจเรื่องการเมือง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ตนได้ลงพบปะชาวบ้านเสื้อแดงมา สรุปได้ว่าคนลงชื่อกันน้อยมาก สาเหตุก็เพราะท่าทีของแกนนำหรือผู้นำทางการเมืองของคนเสื้อแดงที่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ม.112 ปัจจัยนี้สำคัญมากกว่าเรื่องความกลัวส่วนตัวของชาวบ้านเอง


คนเสื้อแดงไม่ได้กลัว ถูกเรียกให้ไปนอนกลางดินกินกลางทราย ไปลุยกับทหารก็ไปลุยมาแล้ว เขาไม่ได้กลัวเรื่องส่วนตัว แต่เขากลัวเรื่องที่ว่าคนที่เขาเลือกเข้าไปไม่ให้ลงชื่อ เขากลัวว่าจะทำให้รัฐบาลที่เขาเลือกไปแล้วเดือดร้อน ในการแก้ไข ม.112 นี้

ดังนั้นการที่เราชอบพูดกันว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมีความตื่นตัวแล้ว มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง อันนี้เรื่องจริง แต่เป็นการตื่นจากการหลับใหลที่ยาวนาน คือหลับใหลมา 60 กว่าปี การขยับตัวจากการหลับใหลมานานขนาดนี้มันก็ต้องเชื่องช้าไม่ได้รวดเร็ว สรุปได้ว่าเป็นการตื่นตัวที่ต้องมีผู้นำหรือแกนนำเป็นคนปลุกให้ตื่น มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านจากข้างบนสู่ข้างล่างตลอดเวลา ยังเป็นการตื่นตัวที่เรียกว่ายังต้องเชื่อฟังผู้นำทางการเมืองของตน

จักรพันธุ์กล่าวสรุปว่าก็เหมือนกับการเล่นเกมส์ที่จะต้องมีการอัพเลเวล ซึ่งช่วงท้ายๆ ของการอัพเลเวลหนึ่งไปสู่เลเวลที่สูงกว่าอาจจะยาก บางทีก็ทำไม่ได้เลย และใช่ว่าทุกคนจะอัพผ่านเลเวลได้



เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร จากกลุ่มทุนนิยาม ได้ขอนิยาม “การรณรงค์” ก่อน เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ ความหมายตามคู่มือการรณรงค์ของต่างประเทศนั้นบอกว่า การรณรงค์หมายถึง “การเสาะแสวงหาการเปลี่ยนแปลงสาธารณะ ที่ได้รับการจัดตั้ง อย่างเป็นขั้นตอน”

โดยการรณรงค์ทั้งหลายล้วนเกี่ยวข้องกับการสื่อสาร และการสื่อสารนั้นมีเป้าหมายเพื่อโน้มน้าวหรือมีอิทธิพลเหนือคนที่มีอำนาจตัดสินใจ ซึ่งโดยทั่วไป รูปแบบของการรณรงค์แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ การมีอิทธิพลอย่างตรงไปตรงมา (ล็อบบี้) และการมีอิทธิพลอย่างอ้อม ซึ่งผู้รณรงค์หันไปหามวลชนกลุ่มหนึ่งแทนครับ การรณรงค์แบบหลังจึงเกี่ยวข้องกับการสร้างแนวร่วม พันธมิตรและการชี้นำความเห็นสาธารณะ

ข้อควรระวังที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อนักกิจกรรมคิดอยากจะทำการรณรงค์ บ่อยครั้งนักกิจกรรมผิดพลาดตั้งแต่เริ่มต้น เพราะกระโดดจากความตั้งใจดีไปสู่โหมดของกิจกรรมเต็มรูปแบบ โดยขาดการวางกลยุทธ์ เราเรียกความผิดพลาดแบบนี้ว่า “หลุมพลางกิจกรรม”

ทั้งนี้ในการรณรงค์จึงต้องมีแผนหรือกลยุทธ์ การมีกลยุทธ์ช่วยให้เราสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง เพื่อที่จะช่วยนักรณรงค์วางกลยุทธ์ มีคำถามหลัก 4 ข้อที่จะต้องถามตัวเองและตอบให้ได้ คือ

1. เราต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร
2. ใครมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงนั้น
3. อะไรสามารถโน้มน้าวใจคนกลุ่มนั้นให้ตัดสินใจเปลี่ยน
4. เราควรทำอย่างไรเพื่อโน้มน้าวใจคนกลุ่มนั้น

ทั้งนี้เกรียงศักดิ์ ได้ยกประสบการณ์การรณรงค์ต่อต้านกฎหมายป้องกันการก่อการร้ายของอาฟริกาใต้ มาเป็นกรณีศึกษา โดยสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการรณรงค์นี้ คือ การสร้างแนวร่วมในการรณรงค์ โดยมีองค์กรที่เป็นแกนคือ สถาบันด้านเสรีภาพในการแสดงออก

ในปี ค.ศ.2002 (พ.ศ.2545) หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยาในสหรัฐฯ รัฐบาลอาฟริกาใต้พยายามจะผลักดันกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย ที่เรียกชื่อทางการว่า “กฎหมายปกป้องประชาธิปไตยแบบรัฐธรรมนูญจากการก่อการร้ายและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง”

ปัญหาก็คือ นิยามเรื่องการก่อการร้ายที่คลุมเครือ มีผลให้กิจกรรมด้านการเมืองและที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมืองเช่น การชุนนุมประท้วง การเรียกร้องสิทธิในที่ทำกิน การหยุดงาน และอารยะขัดขืนถูกตีความว่าเป็นการก่อการร้าย ยกตัวอย่าง งานขององค์กรที่รณรงค์เรื่องเข้าถึงการรักษาเอชไอวีและคณะกรรมการวิกฤตไฟฟ้า ที่ต่อต้านการตัดกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ยากจน ก็จะถูกทำให้เป็น “อาชญากรรม” ก่อการร้ายไป

ปรากฏว่า เงื่อนไขเรื่องความอ่อนไหวของประเด็น “ก่อการร้าย” ทำให้สถาบันนี้ไม่ต้องการทำการรณรงค์เพียงลำพัง เพราะจะถูกประณามจากสังคมได้ จึงเกิดเครือข่ายการรณรงค์ขึ้น ประกอบด้วยองค์กรที่ทำงานเรื่องสื่อ สื่อของคนงาน เครือข่ายต่อต้านสงคราม กลุ่มต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ขบวนการชาวบ้านไร้ที่ดินและองค์กรด้านสิทธิในการรักษาเอชไอวี

เป้าหมายหลักของการรณรงค์ครั้งนั้น มี 4 ข้อ คือ สร้างความตระหนักต่อปัญหาของกฎหมายนี้ เพื่อให้เกิดการต่อต้าน, เรียกร้องให้ขยายเวลาของการถกเถียงเกี่ยวกับกฏหมายนี้ ตามเงื่อนไขของสภา, เข้าไปมีส่วนร่วมกับรัฐบาลและสมาชิกรัฐสภา และสุดท้ายคือเพื่อให้กฎหมายนี้ถูกถอนหรือยกเลิก

ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ทำให้การรณรงค์ครั้งนั้นประสบความสำเร็จคือ

1. ผู้ทำการรณรงค์นี้ยอมรับว่าถ้าวัตถุประสงค์แรกคือ การสร้างความตระหนักในสังคมวงกว้างล้มเหลว การรณรงค์ทั้งหมดจะล้มเหลวไปด้วย หมายความว่าถ้าหากประเด็นนี้ไม่กลายเป็นประเด็นสาธารณะ รัฐสภาก็คงจะละเลยการรณรงค์เคลื่อนไหวนี้ ตั้งแต่ต้น

2. ในระยะแรก ประชาชนก็ไม่รู้จักและเข้าใจว่ากฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย คืออะไร แต่การรณรงค์ช่วยให้กฎหมายนี้กลายเป็นประเด็นสาธารณะขึ้นมาในที่สุด

3. ปัจจัยชี้ขาด ก็คือ การข่มขู่ของเครือข่ายสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุด มีสมาชิก 2 ล้านคน ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกของเครือข่ายรณรงค์ ที่บอกว่าจะนัดชุมนุมใหญ่ ถ้าหากกฎหมายนี้ผ่านสภา ทำให้ในที่สุด ร่างกฎหมายจึงถูกถอดออกจากการพิจารณา


ทั้งนี้หลังจากการเสวนา ทางสถานีวิทยุสร้างสรรค์สังคมเชียงใหม่ก็ได้มอบรายชื่อที่รวบรวมได้ให้กับธนาพล นำไปรวมกับ ครก.112 ส่วนกลาง


* * * * * * * * *
Attachment
จดหมายข่าว 112 ประจำวันที่ 15 ม.ค. - 15 ก.พ. 2555 . . Size 660.03 KB
http://www.prachatai.com/sites/default/files/112bulletin01(15jan-15feb).pdf

ประมวลข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ ม.112 (15 ม.ค. – 15 ก.พ. 2555). . Size 967.18 KB
http://www.prachatai.com/sites/default/files/15jan-15feb.pdf



.